ใต้กระแสนักศึกษา


ใต้กระแสนักศึกษา 
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "ใต้กระแส"
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
    ผมสอนหนังสือในชั้นขนาดใหญ่มานานกว่าสิบห้าปี และในแต่ละปีผมจะถามคำถามชุดหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับความคิดเห็นของนักศึกษา ว่าตัวนักศึกษามีการให้ความหมายต่อตนเองและต่อสังคมหรือชุมชนที่ตนเองกำลังสังกัดอยู่ ผมถามทำนองนี้ทุกปีก็เพื่อที่จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของนักศึกษาในแต่ละรุ่น

    สำหรับปีนี้ ผมสังเกตเห็นว่ามีนักศึกษาที่ยอมยืนรอลิฟต์ขึ้นตึกเรียนจำนวนมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ มาก นอกจากเหตุผลว่ามหาวิทยาลัยรับนักศึกษามากขึ้นแล้ว ผมคิดว่าน่าจะมีเหตุผลอื่นๆ ประกอบด้วย ผมจึงถามนักศึกษาว่าทำไมพวกเขา/เธอจึงยอมเสียเวลารอขึ้นลิฟต์ จนบางทีต้องเข้าห้องเรียนสายกว่าสิบห้านาที (ตึกเรียนที่ผมว่านี้เป็นตึกขนาดใหญ่ สูงแปดชั้น แต่ว่ามีลิฟต์เล็กๆ สองตัว) คำตอบที่ผมได้รับก็คือ พวกเขา/เธอได้เสียเงินค่าบริการต่างๆ ไปแล้ว ก็อยากจะใช้ให้คุ้ม พอผมได้รับคำตอบแบบนี้ต้องยอมรับว่า “งง” ผมจึงถามต่อไปว่าพวกเขา/เธอคิดว่าค่าเทอมและค่าบริการต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยเก็บจากนักศึกษาแต่ละคนนั้นคุ้มกับค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยไหม คำตอบที่ได้อย่างพร้อมเพรียงกันของนักศึกษาในชั้นก็คือคุ้ม ซึ่งผมถามย้ำว่าที่ว่าคุ้มนั้นหมายความว่าเงินที่พวกเขา/เธอจ่ายนั้นก็เป็นการจ่ายที่เท่ากับการจ้าง "มหาวิทยาลัย" ให้สอนหนังสือใช่หรือไม่ คำตอบก็คือ ใช่

    ผมไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้รับคำตอบตรงไปตรงมาเช่นนี้ ผมจึงได้อธิบายต่อไปว่าผมเป็นคนที่เติบโตมาพร้อมๆ กับความเชื่อที่ว่าเราเรียนหนังสืออยู่ได้ด้วยเงินภาษีของพี่น้องประชาชน เรานักศึกษาจึงต้องทดแทนบุญคุณของพี่น้องประชาชน พวกเขา/เธอก็ถามต่อไปว่าที่ว่าทดแทนบุญคุณพี่น้องประชาชนนั้น พวกคน (แก่) อย่างอาจารย์นั้นได้ทำอะไรไปบ้าง ผมก็ตอบว่าการทำงานกิจกรรมนักศึกษาทั้งหลายล้วนแต่มีเป้าหมายว่าจะทำเพื่อประชาชน จนถึงหลัง พ.ศ.2516 ก็ได้ร่วมกันพยายามขับเคลื่อนสังคมไปสู่สังคมอุดมคติที่วาดหวังกันไว้ แม้ว่าจะล้มเหลวแต่ก็แสดงให้เห็นว่าพวกคนรุ่นนั้นได้กระทำการเพื่อทดแทนบุญคุณพี่น้องประชาชนอย่างสำคัญทีเดียว

    ถึงตาที่พวกเขาและเธอ "งง" บ้างล่ะครับ "งง" เพราะเข้าใจไม่ได้ว่าคนรุ่นนั้นเขาทำอย่างนั้นเพื่ออะไร เขาได้ประโยชน์อะไร

    นอกจากการตอบคำถามผมในปีนี้แล้ว ผมพบตลอดหลายปีที่ผ่านมา นักศึกษามีระบบคิดอีกลักษณะหนึ่งผมเองไม่ค่อยเข้าใจหรือเข้าใจไม่ได้ ก็คือ นักศึกษาจะมองปัญหาหรือปรากฏการณ์อะไรก็ตามจากมุมมองผลประโยชน์ตนเองเป็นหลัก หากเรื่องใดไม่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับผลประโยชน์ตนเองก็จะไม่สนใจและไม่คิดที่จะเข้าไปรับรู้หรืออธิบายอะไร มุมมองเช่นนี้เป็นทั้งสาเหตุและเป็นทั้งผลลัพธ์ว่าทำให้นักศึกษาไม่สนใจ “สังคม” และไม่เข้าใจเลยแม้แต่น้อยว่า “สังคม” อยู่ในลักษณะนี้ได้อย่างไร แน่นอนว่าก็ย่อมไม่สนใจด้วยว่าอนาคตของสังคมจะเป็นอย่างไร พวกขา/เธอรู้สึกว่า “สังคม” ก็อยู่ของมันไป ส่วนพวกเธอและพวกเขาก็เพียงร่วมอาศัยอยู่ด้วย แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแต่อย่างใด

    ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ ชมรมกิจกรรมนักศึกษาจึงซบเซาลงจนหลายชมรมได้ตายไปแล้ว ก็ขนาดกิจกรรมชมรมยังตายไปแล้ว การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มเยาวชนสีเหลืองหรือสีแดงจึงไม่เกี่ยวกับนักศึกษาส่วนใหญ่เลยแม้แต่น้อย

    นอกจากการล่มสลายของกิจกรรมนักศึกษาแล้ว การคิดเพื่อเข้าใจในวิชาเรียนทางด้านสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ก็จะล้มเหลวตามไปด้วย ดังวิชาที่ผมสอนอยู่เพราะเด็กที่เรียนมักจะบ่นว่ายากและไม่เข้าใจ นักศึกษาจำนวนไม่น้อยจะร้องไห้เวลามาคุยเรื่องรายงานกับผม ไม่ใช่เพราะโมโหผม หากแต่พวกเขาและเธอจะรู้สึก "อึดอัด" มากขึ้น มากขึ้น เพราะไม่สามารถตอบคำถามง่ายๆ ของผมได้ ทั้งๆ ที่เขาคิดว่ามันไม่น่าจะยากอะไร

    วิชาพื้นฐานที่ผมสอนอยู่นี้ ชื่อวิชา “สังคมและวัฒนธรรมไทย” ผู้ริเริ่มและลงแรงในการสร้างวิชานี้ได้แก่ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เป้าหมายของท่านและของวิชานี้ก็คือ ความต้องการทำให้ผู้เรียนเข้าใจสังคมไทยให้ดีขึ้น โดยเน้นให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ที่ประกอบกันก่อรูปมาเป็นสังคมไทย และเน้นให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้านที่เกิดขึ้นในรอบห้าสิบปีที่ผ่านมา และได้พยายามทำให้ผู้เรียน “มองเห็น” สายใยทางสังคมที่ร้อยรัดกันอย่างสลับซับซ้อน

    ผมแน่ใจว่าเพราะวิชานี้เป็นวิชาที่ต้องการให้นักศึกษา “มองเห็น” และเข้าใจความสัมพันธ์ทางสังคม ในขณะที่นักศึกษาเองกลายเป็นกลุ่มคนที่ไม่สนใจและไม่รับรู้การดำรงอยู่ของ “สายใย” ทางสังคม จึงทำให้นักศึกษาจำนวนมากหรือเกือบทั้งหมดจะบ่นว่ายากและกังวลกับวิชานี้มากเป็นอันดับต้นๆ เพราะไม่สามารถจะจินตนาการตามไปได้เลย (พวกเธอ/เขาเรียกวิชานี้ว่า “ไทยช็อก” แต่การสำรวจในหลายปีก่อน เมื่อนักศึกษาเหล่านี้จบไปแล้วหนึ่งปี และกลับมาตอบแบบสำรวจบัณฑิตตอนรับปริญญาที่ว่าวิชาใดได้ใช้ประโยชน์มากในการทำงาน  วิชา “ไทยช็อก” นี้ก็ติดอันดับต้นๆ)

    ผมคิดว่าวิธีคิดของนักศึกษาที่มีต่อตนเองเป็นหลัก โดยมองไม่เห็นสายใยของสังคมมิติใดเลยนี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่พบว่าเด็กวัยรุ่นยอมรับการคอร์รัปชันสูงกว่าคนแก่อายุห้าสิบปีขึ้นไป ซึ่งไม่น่าแปลกใจอันใด เพราะพวกเขาและเธอไม่ได้สนใจ “สังคม” อยู่แล้ว การโกงกินจึงอยู่ห่างจากตัวพวกเขา/เธอ และไม่แปลกใจอีกเช่นกันที่คนที่อายุเกินห้าสิบปีจะยอมรับได้น้อยกว่าคนที่อายุน้อยกว่า

    ปัญหานี้คงไม่ใช่การแก้ที่บทลงโทษผู้คนที่โกงกิน แต่จะทำอย่างไรให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ถึงสายใยความสัมพันธ์ทางสังคมที่ร้อยรัดสังคมเอาไว้ หากทุกคนรับรู้เช่นนี้ ก็จะรับรู้ได้เองว่าการคอร์รัปชันที่เพิ่มสูงมากขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อสังคมรุนแรงขึ้นและย่อมส่งผลกระทบต่อตัวพวกเขาเองในฐานะปัจเจกชนด้วย

    การศึกษาและการเรียนรู้ทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในสังคมไทยล้มเหลวโดยสิ้นเชิงเพราะไม่สามารถทำให้คนในสังคมรับรู้/ตระหนักรู้ถึง “สังคม” ที่พวกเขาเอา “ตีน” (ขอโทษ หากไม่สุภาพ “เท้า” ก็ได้ครับ) เหยียบอยู่ การสอน “จริยธรรม-ศีลธรรม” ลอยๆ แบบไม่วางอยู่ในบริบทแบบที่สอนกันอยู่ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยนั้นไร้ความหมายโดยแท้ (มคอ.2/3 ที่สร้างมาโดยนักวิชาการของ สกอ. ก็แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจ “จริยธรรม-ศีลธรรม” แบบตื้นเขิน ไร้ความหมาย)

    เรากำลังร่วมกัน “ทำลาย” สังคมของเราไปทีละน้อยๆ ด้วยการทำให้คนไม่รู้จักและไม่รับรู้ว่า “สังคม” คืออะไร และในท้ายที่สุดแล้ว เราทั้งหมดก็จะต้องอยู่ในสังคมที่ไม่มี “สังคม” เหลืออยู่

    Comments

    Anonymous said…
    สังคมแบบทุนนิยมมันกลายเป็นวิถีชีวิตของเด็กรุ่นใหม่แบบนี้ไปเสียแล้วครับ อันที่จริงเด็กกลุ่มนี้ก็เติบโตมาในช่วงที่เศรษฐกิจไทยดีมากๆ รับเอาวิถีชีวิตแบบทุนนิยมเข้ามาเต็มๆ มองตัวเองเป็นหลัก พอโตมาก็เจอกับรูปแบบการเมืองที่โกงได้แต่ก็ขอให้ตัวเองได้ผลประโยชน์ไปด้วย เลยทำให้มองอะไรแคบๆ คิดอะไรสั้นๆ ง่ายๆ ชอบทางลัดและอยากประสบความสำเร็จไวๆ มันเลยแฝงความเห็นแก่ตัวเข้าไปพร้อมๆ กับความเป็นทุนนิยมจ๋าด้วย ดังนั้นแนวคิดแบบสังคมนิยมมันจึงดูเป็นเรื่องโบราณที่ไกลตัวมากๆ ว่ามาเรียนเพราะภาษีประชาชนจบไปก็ต้องไปรับใช้ประชาชน ผมแนะนำหนังสือ "Why do I need teacher when I've got Google" ครับ เป็นอาจารย์ในสมัยนี้ผมว่าไม่ง่ายนะครับ
    ขอบคุณครับ ผมพบหนังสือที่ท่านได้กรุณาแนะนำผม (บน Google) ที่ website: www.teachersyndicate.com

    น่าสนใจมากเลยครับ ผมจะหาทางเผยแพร่ต่อไป