หวั่นมหา'ลัยสลัดไม่พ้นคราบรัฐ 'ธงทอง'ชี้ออกนอกระบบอย่าลอกแบบเดิม

นายธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวถึงแนวคิดการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ในการประชุมประชาพิจารณ์ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ว่า แนวคิดการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกนอกระบบ เมื่อปรับเปลี่ยนมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือมหาวิทยาลัยนอกระบบ คือ นอกระบบของความเป็นส่วนราชการ แต่ยังคงมีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ เพียงแต่ว่าระบบการบริหารจัดการจะมีความหลากหลายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันนี้มีมหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจำนวนหนึ่งแล้ว เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2540 หลายคนต่างรอดูว่าจะเป็นอย่างไร ก็ปรากฏว่าสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี จึงเป็นบทเรียนที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ควรนำไปศึกษาและ วิเคราะห์ แต่มีข้อพึงระวัง คือ อย่าลอกกฎหมายลูกบท หรือข้อบังคับที่เป็นอนุบัญญัติจากระบบบริหารเด็ดขาด เพราะจะทำให้มหาวิทยาลัยหนีไม่พ้นระบบราชการ ภารกิจในการดูแลมหาวิทยาลัยให้มีคุณภาพมากขึ้น เป็นภารกิจโดยตรงของ สกอ. มากกว่า สกศ. เมื่อพูดถึงเด็กๆ ที่กำลังจะจบชั้นมัธยมกำลังจะเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ตัวเลขปัจจุบันร้อยละ 60 มาอยู่ที่สายการศึกษา อีกร้อยละ 40 ไปอาชีวะ ในขณะที่แรงงานที่มีฝีมือควรเป็นตัวเลขที่สลับกัน จะพอดีกับความเป็นไปของตลาดแรงงานในสังคม แต่ค่านิยมพ่อแม่ทั้งที่รู้ว่าลูกเรียนไปเพื่อตกงาน แต่ก็พร้อมให้ลูกตกงาน เพื่อจะให้ลูกได้รับใบปริญญา ตราบใดที่คนเรียนอาชีวะได้เงินเดือนน้อยกว่าคนเรียนปริญญา ก็เป็นปัญหา ซึ่งสกศ.ต้องกลับไปคิดเรื่องนโยบายเหล่านี้

ที่มา : ข่าวสด พฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2554 http://www.khaosod.co.th

Comments

Anonymous said…
น่าสนใจดีคับ