ม. พระจอมเกล้าธนบุรี หนึ่งในมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ
ตามเนื้อข่าวเลยครับ
----------------------------------------------------------------------------------
ม. พระจอมเกล้าธนบุรี เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยของประเทศไทยที่จะเข้าร่วมโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ
นี่เป็นเพียงหนึ่งจุดพัก เพื่อเดินทางต่อไปและคงต้องเหนื่อยขึ้นกว่าเดิม
เพราะการแสวงหา สร้างความรู้ และสร้างบุคลากรให้กับประเทศเป็นการเดินทางที่ไม่มีที่สิ้นสุด
----------------------------------------------------------------------------------
วันที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11470 มติชนรายวัน
สกอ.แจงไม่ลดเกณฑ์"ม.วิจัยแห่งชาติ" ชี้มหา"ลัยเทคโนฯอยู่กลุ่ม"เฉพาะทาง"
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เรียกร้องให้ปรับเกณฑ์มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ เรื่องจำนวนอาจารย์วุฒิปริญญาเอกที่กำหนดไว้ 40% ให้ลดลงมา เพื่อให้ สจล.และ มจพ.มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์นั้น คงลดเกณฑ์ไม่ได้ เพราะกลุ่มมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีทั้งหมดมีคุณสมบัติไม่ตรงตามเกณฑ์ โดยถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 คือมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง หรือมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ ที่ต้องมุ่งตอบสนองการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิตระดับประเทศ ซึ่งมีงบประมาณในการพัฒนาทุกด้านเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ แต่หากมหาวิทยาลัยใดต้องการยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ต้องพัฒนาด้านบุคลากร และงานวิจัยให้ตรงตามเกณฑ์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะคัดเลือกทุกปี ทั้งนี้ เบื้องต้น สกอ.จะเสนอรายชื่อมหาวิทยาลัย 9 แห่ง ต่อคณะกรรมการอำนวยการคัดเลือก มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน เพื่อพิจารณายกระดับเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ดังนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นายกิตติ ตีรเศรษฐ อธิการบดี สจล.กล่าวว่า สจล.จัดอยู่ประเภทมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง จึงไม่ได้งบฯวิจัย ทั้งที่งานวิจัยถือเป็นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งนี้ อยากให้ สกอ.แบ่งเป็นคณะวิจัย โดยคณะใดมีเกณฑ์ตรงตามที่ สกอ.กำหนด ให้ยกเป็นคณะวิจัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งมีโอกาสเท่าเทียมกัน ไม่เช่นนั้นมหาวิทยาลัยที่โตอยู่แล้วจะยิ่งโตมากขึ้น ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล คงเล็กลงเรื่อยๆ เพราะไม่มีงบฯวิจัยต่อยอดองค์ความรู้
Comments