มหาวิทยาลัยในเวียดนามขึ้นเงินเดือนอาจารย์แก้สมองไหล
ผู้จัดการรายวัน-- กรรมการสภามหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่งในนครโฮจิมินห์ได้เห็นพ้องกันที่จะจ่ายค่าจ้างเงินเดือนให้แก่อาจารย์ที่ดี มีความรู้และคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎเกณฑ์ เดือนละ 4,000-5,000 ดอลลาร์ (กว่า 120,000-150,000 บาท) ในความพยายามปรับปรุงคุณภาพการศึกษา
มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์นครโฮจิมินห์ ได้กลายเป็นแห่งแรกที่นำร่องนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและฝึกอบรมในการพิจารณาค่าจ้างเงินเดือนให้แก่อาจารย์ผู้สอนด้วยตนเอง เป็นการออกนอกระบบราชการเพื่อพึ่งตนเอง "นักศึกษาที่เรียนสำเร็จจากมหาวิทยาลัยของเราสามารถได้รับเงินเดือนถึง 10 ล้านด่ง (626 ดอลลาร์) จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะจ่ายให้อาจารย์ผู้สอนในอัตราต่ำอีกต่อไป" ศาสตราจารย์ ดร.ฟุงซวนญา (Phung Xuan Nha) อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งนี้กล่าวกับหนังสือพิมพ์เตี่ยนฟง (Tien hong) ทางการเวียดนามเชื่อว่าแผนการปรับปรุงค่าจ้างจะสามารถดึงดูดความสนใจของบรรดาครูอาจารย์ผู้สอน ได้ สามารถช่วยแก้ปัญหาสมองไหลได้ ขณะที่กำลังพยายามปรับปรุงคุณภาพการศึกษาเวียดนามได้ตั้งเป้าจะให้มีมหาวิทยาลัย 200 แห่งภายในปี 2553 นี้ และเพิ่มขึ้นเป็น 450 แห่งภายในปี 2563 ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีอาจารย์ผู้สอนอย่างเพียงพอ การปรับค่าจ้างเพื่อป้องกันการสูญเสียบุคคลการจึงถูกกำหนดขึ้นมา ปัจจุบันอาจารย์ผู้สอนในระดับมหาวิทยาลัยของรัฐได้รับเงินเดือนเฉลี่ยเดือนละ 3 ล้านด่ง (188 ดอลลาร์) เท่านั้น ทำให้บุคคลากรทางการศึกษาหันไปทำงานกับภาคเอกชนที่ได้รับค่าจ้างมากกว่าหลายเท่าตัว เวียดนามกำลังเผชิญกับปัญหาด้านบุคคลากรซึ่งขาดแคลนในทุกระดับ ทางการลงทุนอย่างมหาศาลเพื่อผลิตอาจารย์ระดับดุษฎีบัณฑิตให้ได้ 20,000 คนภายใน 10 ปีโดยเริ่มปีนี้เป็นต้นไป แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพให้ต้องกังวลอยู่ต่อไป ปีที่แล้วที่มีการควบคุมรัดกุมไม่ให้เกิดการทุจริตการสอบ ปรากฏว่ามีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญเพียง 60% เท่านั้นที่สามารถสอบเลื่อนชั้นได้ ในระดับอุดมศึกษาก็ไม่ต่างกัน การศึกษาวิจัยของกระทรวงศึกษาธิการฯ เมื่อปีที่แล้วได้พบว่า มีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาเพียงประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่สามารถเข้าทำงานตามสายวิชาที่เรียนมาได้ทันทีเป็นที่ถูกใจนายจ้าง ส่วนที่เหลือต้องไปฝึกอบรมใหม่ และ นายจ้างสนใจแต่นักศึกษาที่สำเร็จจากมหาวิทยาลัยชั้นนำไม่กี่แห่งเท่านั้น การศึกษาวิจัยยังว่า ผู้เรียนสำเร็จปริญญาดุษฎีบัณฑิตในมหาวิทยาลัยเวียดนามจำนวนไม่น้อย วัดความรู้ได้เพียงระดับปริญญาตรีเท่านั้น สื่อของทางการรายงานเรื่องราวต่างๆ ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์ของทางการอีกฉบับหนึ่งรายงานเมื่อวันจันทร์ (25 ก.พ.) นี้ว่า ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจขยายตัวในระดับสูงและกำลังต้องการบุคลาการกับแรงงานที่มีคุณภาพ แต่การศึกษายังด้อยคุณภาพตามรายงานของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมามีมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนผุดขึ้นมาใหม่รวม 30 แห่ง ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเมืองและนครใหญ่ แต่หลายจังหวัดไม่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่เลย มหาวิทยาลัยหลายแห่งถูกยกระดับจากวิทยาลัยหรือสถาบันวิชาชีพขึ้นเป็นสถาบันอุดมศึกษา ขณะที่ยังไม่พร้อมทั้งในด้านบุคคลากรผู้สอนและวัสดุอุปกรณ์
Comments