เดนมาร์ก...ตัวอย่างความสำเร็จจากการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดย ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์
3 กุมภาพันธ์ 2551 13:05 น. (ผู้จัดการออนไลน์)

3 กุมภาพันธ์ 2551 13:05 น. (ผู้จัดการออนไลน์)
จากรายงาน Global Competitiveness Report 2007-2008 ของ World Economic Forum เดนมาร์กได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์เท่านั้น นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จในด้านเศรษฐกิจจากการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เดนมาร์กเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรเพียง 5.4 ล้านคน มีพื้นที่ 43,077 ตารางกิโลเมตร ในช่วงที่ผ่านมา เดนมาร์กได้พัฒนาตนเองอย่างรวดเร็วจากประเทศเกษตรกรรมมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยแม้ชาวเดนมาร์กจะมีรายได้ต่อหัวไม่สูงที่สุดในโลก แต่จากการศึกษาของมหาวิทยาลัย Leicester พบว่าชาวเดนมาร์กมีความสุขมากที่สุดในโลก สำหรับจุดเด่นของชาวเดนมาร์ก คือ มีความคิดความอ่านเป็นอิสระ เอื้ออำนวยต่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้ปัจจุบันเดนมาร์กนับเป็นผู้นำของโลกในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้ฐานความรู้ เป็นต้นว่า
- บริษัท A.P. Moller-Maersk เป็นเจ้าของ Maersk Line นับเป็นสายการเดินเรือใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีส่วนแบ่งระวางบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ของโลก 18%
- บริษัท FLSmidth เป็นผู้ผลิตเครื่องจักรในอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีส่วนแบ่งการตลาดโลก 30%
- บริษัท Vestas นับเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าพลังงานลมรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีส่วนแบ่งตลาดโลก 28%
- บริษัท Grundfos นับเป็นผู้ผลิตปั๊มรายใหญ่ที่สุดของโลก
- บริษัท Novozymes นับเป็นผู้ผลิตเอนไซม์และจุลินทรีย์รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีส่วนแบ่งตลาดโลกในส่วนเอนไซม์สูงถึง 47% และส่วนแบ่งตลาดโลกในส่วนจุลินทรีย์สูงถึง 30 - 40%
- บริษัท Carlsberg นับเป็นผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่อันดับ 5 ของโลก
- บริษัท Bang & Olufsen นับเป็นผู้นำของโลกในธุรกิจเครื่องเสียง โทรทัศน์ และโทรศัพท์ สำหรับจำหน่ายในตลาดบนโดยเฉพาะ
- บริษัท Lego นับเป็นผู้นำในธุรกิจของเด็กเล่นของโลก
- บริษัท Ecco เป็นผู้ผลิตรองเท้าที่มีชื่อเสียงมากรายหนึ่งของโลก
- บริษัท Dantherm Filtration เป็นเจ้าของเทคโนโลยีระบบกำจัดฝุ่นอุตสาหกรรม และระบบ Disamatic ที่พัฒนาโดย ศาสตราจารย์ Vagn Aase Jeppesen จาก Danish Technical University ในปี 1967 ซึ่งเป็นระบบทำแบบหล่อทรายอัตโนมัติที่ไม่ต้องใช้หีบหล่อ และเป็นระบบหน้าผ่าตามแนวดิ่ง (เพิ่มเองโดย Blogger)

นโยบายสำคัญของเดนมาร์ก คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน มากกว่ามุ่งเน้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งแม้จะมีผลดีในระยะสั้น แต่อาจส่งผลกระทบในระยะยาว โดยที่ผ่านมารัฐบาลเดนมาร์กได้ดำเนินนโยบายพัฒนาอย่างยั่งยืนในหลายด้าน ประการแรก เน้นใช้จ่ายในด้านสวัสดิการสังคม เป็นต้นว่า สุขภาพของประชาชน บำเหน็จบำนาญ ฯลฯ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชากร ประการที่สอง ให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประชาชนเข้าศึกษาได้ฟรี โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับมาตรฐานโลก รวมถึงสนับสนุนให้ประชาชนศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมตลอดชีวิต และตั้งเป้าให้เด็กนักเรียนต้องจบการศึกษาขั้นต่ำมัธยมศึกษาตอนปลายหรืออาชีวศึกษาเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 95% ของทั้งหมด และจบการศึกษาระดับอุดมศึกษาไม่ต่ำกว่า 50% ของทั้งหมด ภายในปี 2558 ประการที่สาม เข้มงวดในด้านสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดมากพร้อมกับบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ดังนั้น กระบวนการผลิตใดที่ผ่านหลักเกณฑ์ในด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดในเดนมาร์ก ก็จะผ่านหลักเกณฑ์ในประเทศอื่นๆ อย่างแน่นอน รัฐบาลเดนมาร์กยังเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ผู้ก่อให้เกิดมลพิษจะต้องเป็นผู้จ่าย เช่น ภาษีการปล่อยน้ำเสีย ภาษีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภาษีบรรจุภัณฑ์ ภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง ภาษีไฟฟ้า ภาษีผลิตภัณฑ์จาก PVC ฯลฯ โดยในปี 2549 รัฐบาลมีรายได้จากภาษีสิ่งแวดล้อมเป็นเงินมากถึง 5,500 ล้านยูโร อนึ่ง แม้เดนมาร์กผลิตขยะเป็นจำนวนมากถึงปีละ 15 ล้านตัน แต่ประสบผลสำเร็จในการนำขยะมาใช้ประโยชน์ในรูปรีไซเคิลเป็นสัดส่วนสูงถึง 60% ส่วนที่เหลืออีก 35% ถูกนำไปเผาทำลาย โดยนำความร้อนจากการเผาไหม้มาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าเป็นสัดส่วนสูงถึง 95% ประการที่สี่ เป็นประเทศที่มีการกระจายรายได้เท่าเทียมกันมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยคนจนและคนรวยจะมีรายได้แตกต่างกันไม่มากเหมือนกับประเทศอื่นๆ ประเทศเดนมาร์กยังนับว่าเป็นตัวอย่างสำคัญของประเทศที่ประสบผลสำเร็จอย่างมากในด้านพลังงาน โดยมีตัวชี้วัดสำคัญหลายประการ ประการแรก เป็นประเทศที่มีสัดส่วนการบริโภคพลังงานต่อ GDP ในอัตราต่ำที่สุดในสหภาพยุโรป เป็นต้นว่า ชาวเดนมาร์กโดยเฉลี่ยใช้พลังงานไฟฟ้า 6,600 หน่วย/คน/ปี เปรียบเทียบกับชาวสหรัฐฯ 13,300 หน่วย/คน/ปี ประการที่สอง เดนมาร์กนับเป็นประเทศที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในยุโรป โดยได้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็วจาก 10.5% ของพลังงานทั้งหมด ในปี 2543 เป็น 15.5% ในปี 2548 ประการที่สาม ประชาชนตื่นตัวในด้านประหยัดพลังงาน ตั้งแต่ระดับประชาชนถึงผู้บริหารที่ปกครองประเทศ เป็นต้นว่า จากการสำรวจความเห็นของประชาชนเมื่อปี 2549 พบว่าประชาชนยินดีที่จะจ่ายเงินค่าพลังงานแพงขึ้น หากเป็นพลังงานจากแหล่งที่สะอาด ขณะเดียวกันบรรดารัฐมนตรีและนักการเมืองก็ได้ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีต่อประชาชน โดยไม่เป็นเรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใดที่จะเห็นบุคคลเหล่านี้ขี่รถจักรยานเพื่อเดินทางไปประชุมสภา เดิมประเทศเดนมาร์กพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันในปี 2516 จากการที่กลุ่มโอเปกได้ขึ้นราคาน้ำมัน ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเดนมาร์กเป็นอย่างมาก ประเทศต้องตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพื่อแก้ไขสถานการณ์ในช่วงนั้น รัฐบาลจึงประกาศนโยบายประหยัดพลังงานในด้านต่างๆ เป็นต้นว่า การห้ามขับรถยนต์ในวันอาทิตย์ ขณะที่บางเมืองได้สั่งปิดไฟที่ให้แสงสว่างตามท้องถนน ภายหลังวิกฤตการณ์ข้างต้น รัฐบาลพรรคเสรีประชาธิปไตยของเดนมาร์กจึงประกาศนโยบายในปี 2519 ที่จะพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง ทำให้ธุรกิจผลิตพลังงานหมุนเวียนเฟื่องฟูขึ้น โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม สำหรับนโยบายพลังงานของเดนมาร์กในปัจจุบัน ประกอบไปด้วยมาตรการในด้านต่างๆ มากมาย เป็นต้นว่า
ประการแรก รัฐบาลขึ้นภาษีอากรสำหรับสินค้าพลังงาน เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้า ฯลฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันราคาพลังงานเหล่านี้ในเดนมาร์กมีอัตราสูงมาก นโยบายข้างต้นส่งผลดีทำให้ภาคอุตสาหกรรมและประชาชนหันมาประหยัดการใช้พลังงาน แม้ต้นทุนพลังงานในระดับสูงได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานเข้มข้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็ก ปูนซีเมนต์ และอุตสาหกรรมกระดาษ ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน หลายบริษัทในอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องประสบปัญหาการขาดทุนและเลิกกิจการไป แต่บริษัทที่อยู่รอดได้ลงทุนจำนวนมากในด้านประหยัดพลังงาน เช่น เปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง การออกแบบระบบภายในโรงงานใหม่เพื่อให้มีการสูญเสียพลังงานความร้อนน้อยที่สุด ฯลฯ
ประการที่สอง รัฐบาลเรียกเก็บภาษีจดทะเบียนรถยนต์ในอัตราแพง กล่าวคือ ประมาณ 105% ของมูลค่ารถยนต์ รวมถึงเรียกเก็บค่าจอดรถยนต์ราคาแพงในพื้นที่กลางกรุงโคเปนเฮเกน เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเลิกการใช้รถยนต์ส่วนตัว และหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ ส่งผลทำให้ชาวเดนมาร์กซึ่งแม้มีรายได้สูง แต่เกือบทั้งหมดมีรถยนต์ไม่เกินครอบครัวละ 1 คัน
ประการที่สาม รัฐบาลเน้นส่งเสริมการเดินทางโดยใช้จักรยาน ซึ่งยังนิยมกันอย่างแพร่หลายในเดนมาร์ก มีการก่อสร้างเลนสำหรับรถจักรยานริมถนนจำนวนมาก
ประการที่สี่ รัฐบาลเน้นส่งเสริมการประหยัดพลังงานในบ้านเรือน โดยแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมอาคารเมื่อปี 2522 กำหนดมาตรการบังคับให้บ้านเรือนต้องติดตั้งฉนวนอย่างหนาภายในอาคารเพื่อลดการสูญเสียความร้อนที่ให้ความอบอุ่นแก่บ้านเรือนในฤดูหนาว เริ่มแรกได้กำหนดว่าอาคารก่อสร้างใหม่จะต้องใช้พลังงานความร้อนไม่เกิน 90 หน่วย/ตร.ม./ปี และต่อมาได้กำหนดให้มาตรฐานข้างต้นให้เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานมากขึ้น
ประการที่ห้า รัฐบาลเดนมาร์กปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของประเทศครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ 1980 จากเดิมที่เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่มีประสิทธิภาพในด้านพลังงานต่ำ คือ เพียง 35 - 45% เนื่องจากพลังงานจำนวนมากสูญเสียไปในรูปของความร้อน โดยเปลี่ยนมาเป็นระบบ (Combined Heat and Power System - CHP) ระบบ CHP เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กระบบ Cogeneration หรือ District Heating ที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งชุมชน เพื่อให้สามารถนำความร้อนเหลือทิ้งจากการผลิตไฟฟ้ามาให้ความร้อนแก่บ้านเรือนของประชาชนได้ ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพด้านพลังงานเพิ่มมากกว่า 80% เพื่อทดแทนรูปแบบเดิมที่แต่ละบ้านจะมีระบบให้ความร้อนของตนเองซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำ
สุดท้ายนี้ ขณะที่ประเทศไทยในปัจจุบันมีแนวคิดนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ประโยชน์ แต่เดนมาร์กกลับไม่สนใจพลังงานจากแหล่งนี้แต่อย่างใด โดยในปี 2531 ภายหลังเกิดเหตุการณ์ระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลของสหภาพโซเวียดเป็นเวลา 2 ปี รัฐสภาของเดนมาร์กได้ออกกฎหมายห้ามการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
Comments