เด็ก ป.6 สร้างความฮือฮาวงการดาราศาสตร์ ค้นพบดาวแปรแสงดวงใหม่


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้จัดงานประชุมวิชาการ "LESA Project : อัจฉริยภาพเด็กไทย กับงานวิจัยโลกและดวงดาว" มี รศ.สุชาตา ชินะจิตร ผช.ผอ.สกว. และ น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ผอ. LEAS ร่วมเป็นประธานเปิดงาน
งานดังกล่าวมีผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ที่น่าสนใจของเด็ก ซึ่งเป็นนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนปลายจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่ได้มาเข้าค่ายกับ LESA ตลอดปีการศึกษา 3 ครั้ง ครั้งละ 4 วัน จนมีทักษะและกระบวนการเรียนรู้ในการใช้เครื่องมือสำรวจวิเคราะห์ เก็บข้อมูลเชิงลึก และได้ผลวิจัยที่น่าพอใจนำมาเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ
ในงานมีการนำเสนอโครงการวิจัยที่น่าสนใจคือ "ค้นหาดาวแปรแสงในเมฆแมกเจลแลนใหญ่" ของ ด.ช.กรวีร์ การุณรัตนกุล หรือน้องโบ๊ท และ ด.ช.กฤติธี เจษฎาชัย หรือน้องมิค นักเรียนชั้น ป.6 รร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ซึ่งน้องทั้ง 2 ช่วยกันอธิบายถึงงานวิจัยของตนเอง
น้องโบ๊ทกล่าวว่า มีความสนใจเรื่องดาราศาสตร์เป็นทุนเดิมตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป.3 อาจารย์ที่โรงเรียนจึงแนะนำให้เข้าร่วมกับค่ายของ LESA และได้ชวนมิคเข้าร่วมด้วยในฐานะเพื่อนสนิท จึงกลายเป็นคู่หูที่ศึกษาเรื่องดาวแปรแสง (Variable Stras) สาเหตุที่ทำงานวิจัยชิ้นนี้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายในการค้นหาดาวแปรแสงที่ถือเป็นดาวฤกษ์ชนิดหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงความสว่างตลอดเวลา ซึ่งบริเวณเมฆแมกเจนแลนใหญ่ยังเป็นที่มีดาวแปรแสงมากที่ยังไม่ถูกค้นพบ อีกทั้งยังเป็นการนำเอาองค์ความรู้ที่มาจากการเรียนและการเข้าค่ายมาผสมผสานเข้าด้วยกัน
ขั้นตอนการวิจัยก็จะเก็บข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ ROTSE ที่ติดตั้งไว้ 4 มุมโลก สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ตุรกี และทะเลทรายนามิเบีย เพื่อถ่ายภาพท้องฟ้า 24 ช.ม. ระยะเวลาที่เก็บภาพระหว่างเดือนกันยายน ค.ศ.2005 ถึงพฤษภาคม ค.ศ.2006 ต่อจากนั้นนำภาพที่ได้ในพิกัดเดียวกันมาสลับภาพโดยใช้โปรแกรม DS9 หาวัตถุที่มีความสว่างเปลี่ยนแปลง ทำการปรับพิกัดของแต่ละภาพให้ตรงกัน เมื่อได้ข้อมูลแล้วจึงนำไปวิเคราะห์โดยใช้กระบวนการ Photometry ด้วยซอฟต์แวร์ Maxim DL
จากแฟ้มข้อมูลพบเทหวัตถุต้องสงสัย จำนวน 5 ดวง และเมื่อพบว่าเป็นดาวแปรแสง ก็นำพิกัดไปตรวจสอบกับ SIMBAD (http://simbad.u-strasbg.fr/simbad ) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลของเทหวัตถุที่มีการแผ่รังสีอินฟาเรดออกมา และมีการศึกษาแล้วโดยดาวเทียม IRAS ว่าดาวแปรแสงที่พบนั้นเป็นดาวที่มีการศึกษาค้นพบแล้วหรือไม่
"ดาวแปรแสงดวงที่ 4 ณ พิกัด RA 50h 33 m Dec -67 องศา 17 ลิปดา 52 ฟิลิปดา เมื่อตรวจสอบข้อมูลแล้ว ยังไม่มีการบันทึกในข้อมูลดาราศาสตร์โลก ลักษณะของดาวแปรแสงดังกล่าวเป็นแบบยุบพองและเป็นดาวฤกษ์ที่กำลังสิ้นอายุขัย (อีกประมาณ 1 ล้านปี) ซึ่งการค้นพบในเมฆแมกเจนแลนใหญ่มีโอกาสเป็นไปได้น้อย นานๆ จะค้นพบดาวแปรแสงสักดวงหนึ่ง โดยการค้นพบดังกล่าวถือเป็นรางวัลแห่งความพยายามของผมทั้ง 2 คน ในการศึกษาด้านดาราศาสตร์อย่างมากแล้ว ส่วนการตั้งชื่อดาว คงต้องให้ทางเจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายประสานงานอีกครั้งหนึ่ง" น้องโบ๊ทและน้องมิคกล่าว

แหล่งที่มา : www.thaipost.net

Comments